วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สบู่ดำ

๒๕๔๙ วิกฤตพลังงาน
ความที่ข้าพเจ้าไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง จึงมีเวลาแส่ไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องที่อยากรู้ อีกทั้งอาศัยว่าพอมีความรู้ด้านการผลิตสื่อเพื่อการนำเสนอบ้าง เพื่อนผองน้องพี่ในแวดวงนักพัฒนาก็หยิบยื่นงานให้ทำพอมีรายได้ประคองตัว
ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะแนวทางการใช้พลังงานจากธรรมชาติเมื่อปี ๒๕๔๔ ก็ได้มีโอกาสไปเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตแก๊สหุงต้มจากขี้หมูของเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งใช้ผลเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ก็ยังไปเรียนรู้เรื่องการเผาถ่านแบบใช้ถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร โดยใช้เศษไม้หรือกิ่งไม้ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งนั่นแหละมาเผา ซึ่งมีกรรมวิธีไม่ยุ่งยากซับซ้อน เมื่อปีที่แล้วหน่วยงานราชการของจังหวัดสุรินทร์ได้จัดอบรมให้กับข้าราชการในหลายสังกัด จำนวนหลายร้อยคน
เอาไว้จะมาเล่าให้ฟังในคราวต่อไปก็แล้วกัน
ครั้งนี้ขอมาเล่าเรื่องสำคัญๆ ที่เผอิญมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ และถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติจนถึงระดับโลกและจักรวาลก็ว่าได้ นั่นก็คือ เรื่องของพลังงานน้ำมัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า วันนี้ประชาชนคนไทยและคนอีกเกือบทั้งโลก เป็นเดือดเป็นร้อนกับเรื่องราคาน้ำมันที่สูงจนฉุดเศรษฐกิจในครัวเรือนให้ทรุด เราๆ ท่านๆ ต้องรัดเข็มขัดจนเอวแทบขาดแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยอะไรได้มากนัก
จนกลายเป็นความชาชิน
มิหนำซ้ำ ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งไทยและเทศ ก็แทบจะนำพาโลกไปสู่หายนะเร็วขึ้น
แท้จริงแล้วประเทศไทย ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องพลังงาน เพราะว่าเรามีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือ ถ้าใช้มันอย่างถูกต้องและถูกวิธี เรามีแสงแดดเฉลี่ย ๖-๗ ชั่วโมงต่อวันมาตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่เป็นประเทศไทย แต่เราก็ไม่เคยคิดจะนำมันมาใช้อย่างจริงจัง
น่าแปลกที่เรามีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายคน แต่หลายคนนั้น ทำไมไม่เคยคิดที่จะสร้างพลังงานแสงแดดอย่างจริงๆ จังๆ
เรากลับได้เห็นประเทศแถบยุโรปที่ในแต่ละปี แสงแดดน้อยกว่าบ้านเรามาก แต่เขากลับมุ่งมั่นเพื่อจะนำแสงแดดมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน
ว่ากันว่า อีก ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ปี พลังงานฟอสซิล (น้ำมันใต้ดิน) อาจจะหมดไปจากโลกนี้ ทั้งนี้พลังงานประเภทนี้ใช้หมดแล้วหมดเลยและกว่าจะเกิดขึ้นอีกก็ต้องใช้เวลาหลายล้านปี
ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนามาถึงขีดสุด มนุษย์ใช้พลังงานฟอสซิลกันอย่างฟุ่มเฟือย และที่มากที่สุดและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่มวลมนุษยชาติเลยก็คือ การใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อการสงครามและการทหาร
ในแต่ละปีีเคยมีผู้สรุปว่า มนุษย์ที่มีประโยชน์ต่อโลกน้อยกว่าควายใช้เงินและน้ำมันเพื่อการทำสงคราม มากกว่าการให้การศึกษาและเพื่อมนุษยธรรมถึง ๓ เท่า
เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาบุกยึดอิรัก เป็นเหตุให้น้ำมันแพงขึ้นๆ ก็คือเรื่องน้ำมันนี่แหละ ทำให้ประเทศเล็กอย่างไทย พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย และพันกันเป็นอีรุงตุงนังมากระทั่งวันนี้
มีความพยายามที่จะหาแหล่งทดแทนพลังงานฟอสซิล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของคนไทย และก็มีหลายหน่วยงานที่ช่วยกันหาทางออก
และทางออกหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ การใช้พลังงานจากพืช และพืชที่ผมจะนำมาบอกกล่าวเล่าสู่ก็คือสบู่ดำ โดยน้ำมันที่สกัดได้จากสบู่ดำนั้นจะนำมาทดแทนน้ำมันดีเซลเป็นหลัก
คำว่า สบู่ มาจากภาษาโปรตุเกส เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาปลูกเป็นรั้วบ้าน มียางสีขาว สมัยเด็กๆ ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ มักนำยางของมันมาเป่าเป็นลูกโป่งเล็กๆ โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าเมล็ดของมันสามารถนำมา สกัดเ็ป็นน้ำมันได้
เหตุที่เรียกว่า "สบู่ดำ" ก็เพราะว่าเมล็ดของมันมีสีดำ คนอีสานเรียกต้นสบู่ดำว่า "บักเยา" หรือ "มะเยา"บางแห่งก็เรียก "สีหลอด" ส่วนภาคเหนือเรียก "ละหุ่งฮั้ว" คนทางปักษ์ใต้เรียก "หงเทศ"
สบู่ดำ เป็นไม้ยืนต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas Linn. ส่วนชื่อภาษาอังกฤษคือPurging Nut หรือ Physic Nut
ลำต้นและยอดมีลักษณะคล้ายละหุ่ง ไม่มีขน เป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่น ใบคล้ายใบฝ้าย แต่หนากว่า ออกดอกเป็นช่อพวงที่ข้อ ผลกลมรีเล็กน้อย เมื่อดิบสีเขียวอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแ่ก่
อายุเฉลี่ยโดยทั่วไปราว ๕๐ ปี ความสูงตั้งแต่ ๒-๗ เมตร
ข้าพเจ้าไม่ขอเอ่ยถึงลักษณะทางวิชาการของสบู่ดำให้มากนัก แต่จะขอกล่าวถึงความเป็นไปได้หากเราได้พัฒนาและส่งเสริมกันอย่างจริงๆ จังๆ ข้าพเจ้าเชื่อว่าประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤติน้ำมันไปได้ไม่ยากนัก

เคื่องมือการสกัดสบู่ดำ



สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนา เครื่องหีบ น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสำหรับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ภายใต้โครงการศึกษาและพัฒนาการสร้างเครื่องจักรผลิตน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอย ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ : MTEC และ สมาคมเครื่องจักรกลไทย ทั้งนี้ โครงการ ฯ ได้ดำเนินการศึกษาพัฒนา เพื่อสร้าง เครื่องหีบน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ 3 ขนาด ได้แก่
1) เครื่องขนาดกำลังการผลิต 5-10 กิโลกรัมเมล็ด/ชั่วโมง พัฒนาโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2) เครื่องขนาดกำลังการผลิต 10-15 กิโลกรัมเมล็ด/ชั่วโมง พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ : MTEC
3) เครื่องขนาดกำลังการผลิต 100-200 กิโลกรัมเมล็ด/ชั่วโมง พัฒนาโดย สมาคมเครื่องจักรกลไทย


ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ได้ดำเนินการศึกษาพัฒนาเครื่องหีบน้ำมัน ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละขนาดจะมีความเหมาะสมต่อการใช้งานตามความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ โครงการ ฯ ดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการบูรณาการความคิด ร่วมกับ นักวิชาการ และผู้ประกอบการคนไทย ในการคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติ จนสามารถสร้างเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ขนาดย่อม ไปจนถึงอุตสาหกรรมระดับประเทศได้ในอนาคต
ในวันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ขอนำเสนอเครื่องหีบน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ดังกล่าวแล้วข้างต้น ทั้งนี้ ผู้ดำเนินโครงการได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการพัฒนาเครื่องจักร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งานในระดับวิสาหกิจชุมชน โดยมีรายละเอียดคุณสมบัติโดยสังเขป ดังนี้